สินค้าจีนผลิตเกินความต้องการ ล้นทะลักตีตลาดโลก เรื่องจริงหรือวาทกรรม?

10 กรกฎาคม 2567
สินค้าจีนผลิตเกินความต้องการ ล้นทะลักตีตลาดโลก เรื่องจริงหรือวาทกรรม?

รองศาสตราจารย์ ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจจีน โพสต์บทความผ่านเฟซบุ๊ก เรื่อง สินค้าจีน Overcapacity ล้นทะลักไปตีตลาดโลก : เรื่องจริงหรือวาทกรรม ได้ข้อสรุปสำคัญ เป็นทั้งเรื่องจริง และเป็นไปตามกลไกตลาด

ปัญหากำลังการผลิตที่ล้นเกินของจีน (Overcapacity) กลายเป็นประเด็นถกเถียงระดับโลก ด้วยความกังวลว่า จะส่งผลกระทบต่อประเทศต่าง ๆ มากน้อยเพียงใด และในกรณีประเทศไทยจะถูกกระทบจากสินค้าราคาถูกจากจีนที่ล้นทะลักเข้ามาอย่างไรบ้าง วิเคราะห์ไล่เรียงทีละประเด็น ดังนี้

ประเด็นแรก : จีนมีการผลิตสินค้ามากจนล้นเกิน (Overcapacity) หรือไม่

หากพิจารณาจากบริบทประเทศจีนที่มีขนาดใหญ่ และมีข้อได้เปรียบเชิงขนาด (Scale Advantage) ผู้ผลิตจีนจึงมักจะเน้นการผลิตเชิงปริมาณจำนวนมาก (Mass Production) เพื่อให้ต้นทุนเฉลี่ยต่อหน่วยลดลง เกิดการประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale) หวังจะป้อนตลาดภายในของจีนที่มีผู้บริโภคจำนวนมหาศาล

อย่างไรก็ดี บางอุตสาหกรรมของจีนมีอุปทานการผลิตมากเกินกว่าอุปสงค์ความต้องการของตลาดภายในจีนเอง จนเกิดปัญหาอุปทานล้นตลาดจีน ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจจีนในยุคหลังโควิด-19 ที่ค่อนข้างอึมครึมซึมเซา ไม่คึกคักเหมือนเดิม คนจีนใช้จ่ายน้อยลง หันมาเน้นเก็บเงินอดออมมากขึ้น (จนเกิดกระแส “เก็บเงินเพื่อล้างแค้น” ในจีน) ยิ่งทำให้ สินค้าจีนที่ล้นเกินเหล่านั้น ถูกระบายผ่านการส่งออกไปต่างประเทศมากขึ้น เพราะลดกำลังการผลิตได้ยาก

ในมุมเศรษฐศาสตร์ หากอุตสาหกรรมใดมีอุปทานการผลิตล้นเกินกว่าอุปสงค์ความต้องการ ส่งผลให้สินค้านั้นราคาถูกลง เพื่อระบายสินค้าคงเหลือ แม้ว่าจะเป็นผลดีในมุมของผู้บริโภค แต่ก็เป็นแรงกดดันต่อคู่แข่งของผู้ผลิตสินค้าล้นเกินเหล่านั้น และในระยะยาว หากไม่สามารถแข่งขันได้ ก็ต้องปิดโรงงานและย่อมจะกระทบการจ้างงานที่ลดลง

ดังนั้น ประเด็นสินค้าจีนที่มีกำลังการผลิตล้นเกิน Overcapacity จนต้องระบายส่งออกไปตีตลาดทั่วโลกเริ่มถูกพูดถึงด้วยความกังวลมากขึ้น เพราะจะทำให้อุตสาหกรรมท้องถิ่นอยู่ไม่ได้ ทำให้คู่แข่งจีนในต่างประเทศต้องถูกกระทบเสียหาย เช่น ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหรัฐได้เคยกล่าวถึงประเด็นนี้ว่า “รัฐบาลจีนให้เงินสนับสนุนอุตสาหกรรมหลักในประเทศ ทำให้มีกำลังการผลิตล้นเกิน Overcapacity มากเกินกว่าความต้องการ จนต้องเร่งส่งออก และนำไปสู่การทะลักล้นของสินค้าในตลาดโลกได้”

ในขณะที่ นายกรัฐมนตรีหลี่เฉียงของจีนได้เคยกล่าวว่า “รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่ควรนำเศรษฐกิจการค้ามาทำให้เป็นเรื่องการเมือง แต่ควรพิจารณาประเด็นกำลังการผลิตตามข้อเท็จจริง และโต้แย้งด้วยหลักเหตุผล ด้วยมุมมองของระบบเศรษฐกิจกลไกตลาด มุมมองในระดับโลก และบนพื้นฐานของหลักการทางเศรษฐกิจ”

นอกจากนี้ หลายฝ่ายของจีนก็ได้โต้แย้งว่า “การโจมตีจีนด้วยคำว่า Overcapacity สะท้อนความวิตกกังวลของชาติตะวันตกที่จะไม่สามารถแข่งขันกับจีนในอุตสาหกรรมใหม่ เช่น รถยนต์ EV จึงพยายามสร้างวาทกรรมนี้ขึ้นมา เพื่อขัดขวางความก้าวหน้าด้านอุตสาหกรรมของจีน”

ประเด็นที่สอง : อุตสาหกรรมใดของจีนที่ถูกจับตาว่า มีกำลังการผลิตล้นเกิน

ส่วนใหญ่จะเป็นอุตสาหกรรมหนักที่มีการผลิตแบบดั้งเดิมเน้นเชิงปริมาณ เช่น เหล็ก ซีเมนต์ และแก้ว จนเกิดการผลิตล้นเกินมานานหลายปี ส่วนหนึ่งเกิดจากนโยบายของรัฐบาลจีนในอดีตที่ทุ่มงบอัดฉีดส่งเสริมให้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมหนักเหล่านั้น

ตลอดจนกลุ่มพลังงานทางเลือก เช่น แผงโซลาร์เซลล์ มีการขยายการผลิตกระจายอยู่ในมณฑลต่าง ๆ จนทำให้ปริมาณการผลิตแผงโซลาร์เซลล์ของจีนทั้งประเทศมีมากกว่าความต้องการของทั้งโลกถึงสองเท่า ส่งผลให้แผงโซลาร์เซลล์ของจีนมีราคาถูกลงเป็นอย่างมาก

นอกจากนี้ กลุ่มพลังงานใหม่ เช่น รถยนต์ไฟฟ้า EV และแบตเตอรี่ลิเธียม ซึ่งเป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมแห่งอนาคตภายใต้แผนยุทธศาสตร์ Made in China 2025 และอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรม"สามใหม่" (New Three industries) ที่เพิ่งประกาศของรัฐบาลจีนด้วย ได้แก่ (1) รถยนต์ไฟฟ้า EV (2) แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน และ (3) เซลล์แสงอาทิตย์ (solar photovoltaic)

ดังนั้น ด้วยการสนับสนุนและผลักดันอย่างหนักจากภาครัฐในยุคสี จิ้นผิง กลายเป็นใบเบิกทางเอื้อให้อุตสาหกรรมเหล่านี้มีการขยายการผลิตอย่างรวดเร็ว และเน้นออกไปทำตลาดต่างประเทศในเชิงรุก จนเกิดประเด็น “สงครามราคา” ที่กระทบคู่แข่งในหลายประเทศ และเกิดข้อกังวลในประเด็นคุณภาพของสินค้าจีนที่หั่นราคาถูกลงอย่างมาก

ประเด็นสุดท้าย : สินค้าราคาถูกที่ไหลทะลักมาจากจีนส่งผลกระทบต่อประเทศไทย และประเทศอื่น ๆ อย่างไรบ้าง

ในแต่ละอุตสาหกรรมของไทยที่เกี่ยวข้องย่อมถูกกระทบมากน้อยไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ตัวอย่างเช่น ภาคอุตสาหกรรมที่ผู้ผลิตไทยมีจุดแข็งและมีความสามารถในการแข่งขัน เช่น กลุ่มอาหารแปรรูป ก็จะได้รับผลกระทบจากปัญหานี้น้อยกว่าอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น สิ่งทอ หรือ เฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น

ที่น่าเป็นห่วง คือ ผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทย SME รายเล็ก เช่น การแข่งขันด้านราคา กระแสสินค้าจีนราคาถูกทะลักเข้ามาตีตลาดในประเทศไทยเป็นแรงกดดันบีบให้ราคาสินค้าที่ผลิตในไทยต้องลดต่ำลง ทำให้ผลกำไรของผู้ผลิตต้องลดลงตามไปด้วย รวมทั้งส่วนแบ่งการตลาดที่ลดลง จากการที่ผู้บริโภคของไทยหันไปซื้อสินค้าราคาถูกจากจีนมากขึ้นผ่านช่องทางและแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น สินค้าออนไลน์ และในระยะยาว หากผู้ประกอบการไทยแข่งขันไม่ได้ ต้องปิดกิจการหรือปิดโรงงาน แรงงานไทยก็จะตกงานมากขึ้น

ล่าสุด จากข้อเรียกร้องของผู้ประกอบการที่ถูกกระทบจากสินค้าราคาถูกนำเข้าจากจีน ทำให้รัฐบาลไทยต้องออกมาตรการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ในอัตรา 7% จากการนำเข้าสินค้าที่มีมูลค่าไม่เกิน 1,500 บาท เพื่อหวังจะแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมระหว่างผู้ขายในประเทศกับผู้ขายจากต่างประเทศ ซึ่งเดิมไม่มีการเก็บภาษี VAT ดังกล่าว

นอกจากประเทศไทย  ยังมีประเทศใดในอาเซียนอีกบ้างที่ถูกกระทบจากสินค้าราคาถูกจากจีน

แน่นอนว่า หลายประเทศในอาเซียน เช่น เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียได้แสดงความกังวลต่อสินค้าราคาถูกที่ล้นทะลักมาจากจีน ผู้ผลิตในประเทศเหล่านั้นต้องดิ้นรนอย่างหนักเพื่อความอยู่รอด เช่น เหล็ก สิ่งทอ

รัฐบาลบางประเทศในอาเซียนจึงได้ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการในท้องถิ่นของตน เช่น อินโดนีเซียเพิ่งประกาศแผนที่จะใช้มาตรการปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ โดยการประกาศเก็บภาษีกับสินค้านำเข้า (Safeguard Duties) เพื่อปกป้องผู้ประกอบการธุรกิจ SME รายเล็ก เช่น รองเท้า สินค้าเซรามิก โดยเบื้องต้น อินโดนีเซียประกาศว่า จะเก็บภาษีศุลกากรกับสินค้าที่ผลิตจากจีนอยู่ที่อัตรา 100-200%

ที่สำคัญ หลายประเทศในอาเซียนประสบปัญหาขาดดุลการค้ากับจีน เช่น เวียดนามมีการขาดดุลการค้ากับจีนอย่างมหาศาล จนเกิดประเด็นกังวลว่า หากปล่อยให้ปัญหายืดเยื้อในระยะยาว อาจจะส่งผลกระทบต่อทุนสำรองเงินตราและค่าเงิน เป็นต้น

นอกจากนี้ หลายประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ เช่น สหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น ต่างก็กังวลว่า จีนกำลังนำผลผลิตที่ล้นเกินเร่งส่งออกไปตีตลาดโลกด้วยการลดราคาขายถูกลง และจะส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตภายในประเทศของตนที่ไม่สามารถแข่งขันกับสินค้าจีนอย่างไม่เป็นธรรม รวมทั้งมองว่า สินค้าจีนเหล่านั้นได้รับการอุดหนุนการส่งออกจากรัฐบาลจีน ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ประเทศเหล่านี้จึงออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อกีดกันการนำเข้าจากจีน เช่น สหรัฐฯ ประกาศปรับขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์ EV จีน จาก 27.5% เพิ่มเป็น 102.5% และสหภาพยุโรปประกาศเก็บภาษีรถยนต์ EV ที่ผลิตในจีนในอัตรา 37.6%

ในขณะเดียวกัน ผู้บริโภครายได้ต่ำในหลายประเทศ เช่น แถบแอฟริกา และละตินอเมริกา ก็อาจจะได้รับประโยชน์จากสินค้าราคาต่ำที่นำเข้าจากจีนและจะเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภคที่สามารถเข้าถึงสินค้าจีนที่ราคาถูกลง ตัวอย่างเช่น รถยนต์ EV จีนราคาไม่แพงในบราซิล เอื้อให้ผู้บริโภคชาวบราซิลได้รับประโยชน์จากการหันมาใช้รถยนต์ EV พลังงานสะอาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ในขณะนี้ บราซิลได้กลายเป็นผู้นำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า EV จากจีนรายใหญ่ที่สุดของโลก

ดังนั้น สินค้าจีนราคาถูกจากการผลิตล้นเกินจะส่งผลกระทบต่อประเทศต่าง ๆ อย่างไร มากน้อยเพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละภาคการผลิต แต่ละกลุ่มผู้บริโภค รวมทั้งโครงสร้างเศรษฐกิจที่แตกต่างกันของแต่ละประเทศนั้น ๆ

ในขณะนี้ ฝ่ายรัฐบาลจีนพยายามชี้แจงต่อความกังวลเรื่องกำลังการผลิตล้นเกินของจีน โดยให้เหตุผลว่า “เกิดจากกลไกตลาดในเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์ และจากมุมมองด้านอุปสงค์ ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Product) ในราคาที่เอื้อมถึงได้ที่ผลิตจากจีน จะช่วยส่งเสริมมาตรฐานการครองชีพและความเป็นอยู่ของผู้บริโภครายได้ต่ำในหลายประเทศ” โดยเฉพาะประเทศโลกขั้วใต้ (Global South)

ในอีกมุมหนึ่ง การแข่งขันกับจีนจะสร้างแรงผลักดันให้ผู้ผลิตในประเทศต่าง ๆ ต้องสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพดีขึ้น แรงกดดันจากจีนจะบีบให้ผู้ผลิตในท้องถิ่นจะต้องคิดค้นสร้างสรรค์และปรับปรุงผลิตภัณฑ์ รวมทั้งอัพเกรดกระบวนการผลิต เพื่อจะได้รักษาความสามารถในการแข่งขันต่อไป หากทำได้สำเร็จ จะทำให้สามารถผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งการต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่สูงขึ้นต่อไป

อย่างไรก็ดี ทั้งหมดนี้ ไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ ขึ้นอยู่กับความสามารถในการปรับตัวของภาคส่วนต่างๆ ในแต่ละประเทศ และอีกหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะบทบาทและนโยบายของรัฐบาลในการรับมือกับความท้าทายเหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพ

โดยสรุป ปัญหากำลังการผลิตที่ล้นเกินของจีนกลายเป็นประเด็นถกเถียงระดับโลก สามารถส่งผลกระทบทั้งเชิงลบและเชิงบวก บางคนอาจจะกังวลถึงผลกระทบต่อผู้ผลิตในท้องถิ่นที่แข่งขันไม่ได้ แต่ในอีกมุมมอง ก็จะเป็นโอกาสของผู้บริโภคที่จะมีทางเลือกในการซื้อสินค้าราคาถูกลง อย่างไรก็ดี หากเกิด “สงครามราคา” แข่งขันกันลดราคาที่มากจนเกินไป หรือเน้นลดต้นทุนด้วยการลดคุณภาพสินค้าต่ำกว่ามาตรฐาน ก็จะส่งผลกระทบเชิงลบต่อผู้บริโภคได้เช่นกัน

สำหรับผลกระทบในระยะยาวจะเป็นอย่างไร และภาครัฐจะรับมือกับปัญหาเหล่านี้อย่างไร ยังคงต้องจับตากันต่อไป


แหล่งที่มา : ฐานเศรษฐกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.